กรกฎาคม 15, 2019
“มีลูกยาก” สาเหตุเกิดจากอะไร…กันแน่?“รักษาภาวะมีบุตรยาก” เพิ่มโอกาสการมีบุตร มีวิธีไหนบ้าง?
การรักษาภาวะมีบุตรยาก สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
1. การรักษาโดยการผ่าตัด
• การผ่าตัดท่อนำไข่
• การผ่าตัดรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และพังผืดในอุ้งเชิงกราน
• การผ่าตัดแก้หมัน
2. การรักษาโดยการใช้ยา
โดยส่วนใหญ่ยาที่ใช้ คือ ยากระตุ้นการตกไข่ โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ไข่ เช่น โคลมิฟีน, ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน การรักษาโดยการใช้ยาได้แก่ การกินยากระตุ้นไข่แล้วนับวันมีเพศสัมพันธ์ และการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination; IUI)
3. การรักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์
(Assisted Reproductive medicine; ART)
• การปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว
(In vitro fertilization: IVF) เทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีการเก็บไข่ออกมานอกร่างกายของฝ่ายหญิง นำมาผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้นอีก 2-3 วัน หรือการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกายจนถึงระยะฝังตัว (เรียกตัวอ่อนระยะ “บลาสโตซิส”) ซึ่งต้องใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงนาน 5-6 วัน แล้วจึงนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกในครรภ์
• อิ๊กซี่ (Intracytiplasmic sperm injection; ICSI) คือ การฉีดตัวอสุจิเข้าผสมกับไข่ ในกรณีที่อสุจิไม่สามารถผสมกับไข่ได้เอง หรือปริมาณอสุจิมีน้อยเกินไปจากสาเหตุมีบุตรยากทางฝ่ายชาย
ระยะเวลาในการรักษา
ระยะเวลาในการกระตุ้นไข่ เก็บไข่ การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย และการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก ใช้ระยะเวลาประมาณ 14-15 วันเป็นอย่างน้อย โดยเริ่มการกระตุ้นไข่ในวันที่ 2 ของประจำเดือน และจะทราบผลการตั้งครรภ์ 14 วัน ภายหลังจากการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก
โอกาสตั้งครรภ์
โดยเฉลี่ยอัตราความสำเร็จในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ประมาณ 30% ต่อการเก็บไข่แต่ละครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้มารับบริการด้วย คนที่อายุน้อยกว่า 35 ปีอาจมีอัตราความสำเร็จสูงกว่านี้ในขณะที่คนอายุมากกว่า 35 ปีจะน้อยกว่านี้ และในคนที่อายุเกิน 40 ปีอาจมีอัตราความสำเร็จเพียง 20% หรือน้อยกว่า คนที่ไม่ตั้งครรภ์จากการรักษาครั้งแรกถ้ามาทำซ้ำก็จะมีอัตราการตั้งครรภ์เช่นครั้งแรก ดังนั้นถ้ามารับการรักษาจำนวนหลายครั้งก็จะมีโอการสตั้งครรภ์สะสมได้สูงขึ้น เช่น 60-70% ถ้ารับการรักษา 4 รอบ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แบ่งได้กว้างๆเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเกิดจากผลข้างเคียงของยา และจากภาวะที่รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป กลุ่มที่สองเป็นผลข้างเคียงจากการทำหัตถการ เช่นการดมยาสลบ การเก็บไข่ การใส่ตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก และสุดท้ายเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่นตั้งครรภ์แฝด ท้องนอกมดลูก ฯลฯ โดยทั่วไปแล้วภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อย